โครงการตลาดมีชีวิต พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ตลาดสามชุก จ.สุพรรณบุรี
     ปลายปี 2545 โครงการเมืองน่าอยู่ ที่นำโดย มูลนิธิชุมชนไทย ได้ริเริ่มทำงานร่วมกับชุมชนบริเวณตลาดสามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีสภาพซบเซา จากเดิมที่เคยเป็นตลาดริมน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในลุ่มน้ำสุพรรณบุรี ทางชุมชนมีกลุ่มทำงานที่รวมตัวกันทำงานฟื้นฟูตลาดอยู่ก่อนแล้ว โดยในช่วงเริ่มต้นได้เปิดให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการวางทิศทางการฟื้นฟูชุมชนร่วมกันโดยได้จัดกิจการรมภาพเก่าเล่าอดีต ย้อนมองความเป็นมาความเปลี่ยนแปลง คุณค่าความดีงามที่เคยมี และเริ่มทำกิจกรรมง่ายๆ เป็นการทำความสะอาดตลาด ซึ่งก็ได้กลุ่มคนทำงานมากเพิ่มขึ้น เริ่มมีคนในตลาดมาร่วมกัน คิดและแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น นำไปสู่การริเริ่มทำโครงการออกแบบปรับปรุง

ตลาดมีชีวิต
โดยลักษณะสภาพเดิมของตลาดจากมุมมองของคนนอก เราจะรู้สึกเหมือนกำลังสำรวจร่องรอยที่เหลืออยู่จากอดีต ร้านค้าของชำ ร้านยา ร้านถ่ายรูป โดยเฉพาะผู้คน ที่มีอัธยาศัยดีมาก ได้บอกเล่าให้เราได้รู้ความเป็นมาเป็นไปของตลาด ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าจริงๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์ที่ชุมชนอยากให้ช่วยคิดมันดำรงอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไร จึงจะเปิดเผยให้คนในชุมชนได้เห็น
จึงทำงานร่วมกับคณะกรรมการสำรวจ

"บ้านพิพิธภัณฑ์" คือบ้านที่ยินดีเปิดให้เข้าชมดูของเก่า เล่าประวัติในความทรงจำ หรือมีงานฝีมือ สามารถนำเสนอได้ เพื่อทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง ได้เป็นแผนที่บ้านพิพิธภัณฑ์ เริ่มแรก 22 หลัง และชักชวนให้ทำและคิดค้นเพิ่มขึ้นตามความสนใจ
ในขณะเดียวกันก็ทดลองการจัดพื้นที่ในตลาดบางส่วนใหม่ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น สะอาดขึ้น รองรับกิจกรรมของชุมชนและภายนอกได้มากขึ้น เช่น บริเวณเวิ้งเจ๊หมอน ที่ปรับเป็นบริเวณศูนย์อาหารท้องถิ่น เปิดให้ร้านอาหารขนาดเล็กเจ้าเก่า ได้กลับมาขายอาหารสูตรดั้งเดิมอีกครั้ง โดยกระบวนการออกแบบทำร่วมกับคณะกรรมการตลาดและกลุ่มแม่ค้า มาช่วยกันแสดงความคิดเห็นและลงมือเก็บกวาดเช็ดพื้นที่ร่วมกัน

ในส่วนบ้านขุนจำนงค์ ก็เป็นการทำงานพร้อมกับทีมมูลนิธิประไพ วิริยพันธุ์ ที่มาร่วมศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยให้ชุมชนช่วยกันทำเอง ในช่วงกระบวนการออกแบบ และซ่อมบ้านก็ได้หาทีมชาวบ้านไปดูงานพิพิธภัณฑ์ที่ต่างๆ เพื่อดูข้อดีข้อเสียและบรรยากาศของแต่ละที่ ก่อนที่จะมาสรุปร่วมกันว่าจริงๆ แล้วพิพิธภัณฑ์ในความหมายที่ชุมชนต้องการคืออะไร
พิพิธภัณฑ์มีชีวิต
เดิมบ้านท่านขุนจำนงค์ เคยเป็นที่พบปะและที่ ๆ คนในชุมชนจะมาปรึกษาหารือเรื่องต่าง ๆ กับท่านขุนจำนงค์ หลาย ๆ คน ยังจำบรรยากาศเช่นนั้นได้ จึงมีความเห็นว่า พิพิธภัณฑ์ บ้านขุนจำนงค์ ควรเป็นที่ชุมชนจะได้มาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้ แบบศูนย์ชุมชน มีการรวบรวมประวัติความเป็นมาในท้องถิ่นสามชุกให้คนรุ่นหลังเรียนรู้วิถีชีวิต เช่น เป็นที่ ๆ แสดงคุณงามความดีของท่านขุนจำนงค์ และครอบครัว รวมทั้งเป็นพื้นที่แสดงงานนิทรรศการ หรือจัดประชุมได้แบบอเนกประสงค์

หลังจากนั้นก็เริ่มซ่อมปรับปรุงอาคารโดยคงลักษณะเดิมของอาคาร ปรับเพิ่มบางส่วนเพื่อการใช้งานรองรับกิจกรรมของชุมชนเท่านั้น ในกระบวนการบริหารจัดการชุมชนได้เลือกคณะกรรมการขึ้นมาดูแลประสานงานกับหน่วนงานที่เกี่ยวข้องกันเอง

และจากวิธีการซ่อมแซมพิพิธภัณฑ์ บ้านขุนจำนงค์ ก็จะเป็นประโยขน์ในด้านการเป็นแบบอย่างในการซ่อมและฟื้นฟูบ้านให้หลังอื่น ๆ ในตลาดต่อไปด้วย


ปลายปี 2547 ชุมชนมีความคิดว่าน่าจะจัดงานเปิดตัว พิพิธภัณฑ์ จึงได้ช่วยกันวางแผนแบ่งทีมทำงาน โดยได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่มากมาย กิจกรรมต่าง ๆ ถูกคิดค้นขึ้นร่วมกันจากคน หลายๆ กลุ่มในตลาด มีทั้งกลุ่มครู กลุ่มศิลปิน กลุ่มพ่อค้า กลุ่มการแสดง ทุกกิจกรรมจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการทำงานร่วมกันกว่า 2 ปี และเป็นจุดเริ่ม ที่เปิดให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงความพยายามของคนสามชุก ที่ได้ริเริ่ม ทำการฟื้นฟูตลาดและความสัมพันธ์ของชุมชนให้กลับคืนมา เป็นสถานที่ ที่จะได้มีการเรียนรู้จาก อดีต ปัจจุบัน และใน อนาคตก็จะเปิดให้คนที่สนใจ ได้มาร่วมทำงานกับชุมชนในประเด็นต่าง ๆ ที่ชุมชนต้องการความช่วยเหลือ และกระบวนการทำงานทั้งหมด ได้มีการทำสื่อสารคดี บันทึกรวบรวมไว้เป็นประเด็นให้ชุมชนได้ใช้ในการเผยแพร่และย้อนมองถึงสิ่งที่เคยได้ทำร่วมกันมา