โครงการบ้านมั่นคง จ. ปัตตานี เริ่มในปี 2546 โดยโครงการเมืองน่าอยู่ จ.ปัตตานี ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อน หลังจากทำได้ระยะหนึ่งมีการสำรวจข้อมูลปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในเมืองปัตตานี และ อ.ปะนาเระ ประมาณ 20 กว่าชุมชน พบว่ามี ปัญหาเรื่องความแออัดของที่อยู่อาศัย และชุมชนอยู่ในที่ดินบุกรุก จึงได้มีการริเริ่มโครงการบ้านมั่นคง จ. ปัตตานี เพื่อมาแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย

จากกระบวนการสำรวจก็ได้ทีมทำงานจากชุมชนที่เข้าร่วมและ ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อเป็นโครงการนำร่อง คือ ย้ายครอบครัวขยายที่อยู่กันแออัดในชุมชนเดิม ออกมาสร้างชุมชนใหม่ แล้วระยะต่อมาจึงปรับปรุงชุมชนเก่าให้มีสภาพที่ดีขึ้น
จากแนวคิดดังกล่าวได้มีการสำรวจและทำความเข้าใจโครงการ กับชุมชนและหน่วยงานของรัฐและเอกชน ในเมืองปัตตานีเกิดโครงการนำร่องใน 3 พื้นที่ ที่จะสร้างชุมชนใหม่ คือ

1. ชุมชนนาเกลือ มีพื้นที่ 13 ไร่ 73 ตร.ว. รองรับชุมชนคลองช้าง 72 ครอบครัว เป็นชุมชนที่อยู่ร่วมกันระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม

2. ชุมชนปูโป๊ะ มีพื้นที่ 19 ไร่ 3 งาน 53 ตร.ว รองรับสมาชิกจากชุมชน ยูโยบูมแม , ชุมชนด่านภาษี , ชุมชนโรงอ่าง รวม 112 ครอบครัว

3. ชุมชนปะนาเระพื้นที่ 30 ไร่ รองรับ120 ครอบครัว

หลังจากสำรวจผู้ที่เดือดร้อนและจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก็ได้เริ่มทำกระบวนการออกแบบ โดยกระบวนการออกแบบเป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาสัมพันธ์กันเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สถาปนิกเองก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ของชาวไทยมุสลิมความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกัน และแนวคิดหลัก ๆ ที่ชุมชนฝันร่วมกันคือ อยากสร้างชุมชนใหม่ ที่สามารถพึ่งตนเองได้ มีการจัดการร่วมกัน มีพื้นที่ส่วนกลางไว้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีกลุ่มอาชีพตามความถนัดของแต่ละกลุ่ม

จากความคิดดังกล่าวก็เป็นการริเริ่มแบ่งทีมรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ออกมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน ค่อย ๆ ประติดประต่อเป็นภาพฝันของชุมชน และทีมสถาปนิกได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากชุมชนเดิม เรื่องพื้นถิ่นเพื่อทำความเข้าใจภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและข้อมูลในการออกแบบ ในการชวนให้ชุมชนได้คิดค้นร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบ กระบวนการออกแบบส่วนใหญ่ พยายามจัดใน site ที่ชุมชนจะย้ายไปอยู่เพราะจะได้ชวนคิดเรื่องสภาพแวดล้อม ที่มีผลในการออกแบบรวมทั้งจะได้ผูกพันกับสถานที่สถานที่ ที่จะสร้างชุมชนร่วมกันในอนาคต

จากกระบวนการออกแบบร่วมกัน สมาชิกจากหลาย ๆ ชุมชนได้มารู้จักกันได้ทำงานร่วมกันส่งผลต่อการออกแบบที่ทำให้เกิดการคิด พื้นที่ส่วนกลางการดูแลและการทำกิจกรรมร่วมกัน ส่วนเรื่องบ้านก็จะสร้างตามกำลังเงินที่มีและค่อย ๆ ต่อเติมในอนาคต โดยกระบวนการออกแบบได้ทดลองทำบ้านในที่จริงเพื่อให้ชุมชน ได้เข้าใจเรื่องรูปแบบบ้านที่สัมพันธ์กับเรื่องสิ่งแวดล้อม, พลังงาน และการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน เพื่อให้สมาชิกนำไปคิดต่อ ปรับเปลี่ยนตามความต้องการ